เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 “มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย – iTIC” ได้เปิดศูนย์ข้อมูลจราจรและสำนักงานอย่างเป็นทางการโดยมีคุณนินนาทและแขกผู้เกียรติร่วมเปิดงาน
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉรยะไทยได้กล่าวไว้ว่า "มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย หรือ iTIC ซึ่งจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยด้วยเงินทุนสนับสนุนจำนวน 500,000 บาท จากสมาคม ITS Thailand เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 หรือวันนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลจราจรสู่สาธารณะ เพื่อช่วยลดปัญหาจราจร เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ
นับว่า iTIC เป็นศูนย์รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลจราจรสู่สาธารณะอย่างจริงจังเป็นที่แรก และต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่ จึงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งในฐานะที่ได้รับเกียรติให้เป็นประธานมูลนิธิฯ ผมจึงเดินสายเข้าพบหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง เพื่อไปอธิบายและขอความร่วมมือ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ตรงกับความตั้งใจแรก ที่จัดตั้งศูนย์ข้อมูลจราจรภายใต้มูลนิธิ เพื่อเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้
ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา iTIC มุ่งมั่นที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทย ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย ในการรวบรวมและพัฒนาข้อมูลจราจรของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพ และรายงานสภาพจราจรอย่างถูกต้องแม่นยำ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถวางแผนการเดินทาง หลีกเลี่ยงการจราจรติดขัด ตลอดจนลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้
ปัจจุบัน iTIC ได้รับการสนับสนุนข้อมูลสาธารณะจากกล้อง CCTV กว่า 500 จุดของกระทรวงคมนาคม, กรุงเทพมหานคร, กองบังคับการตำรวจจราจร รวมทั้งของมูลนิธิฯเอง และหน่วยงานอื่นๆ ที่อนุเคราะห์สถานที่ให้ติดตั้งกล้องฯ ของ iTIC และยังมีข้อมูลจากระบบ GPRS ที่ติดบนโทรศัพท์มือถือ, รถแท็กซี่, รถขนส่งสินค้า, รถโดยสารสาธารณะ, รถยนต์ส่วนบุคคล ตลอดจนรถบริษัทเอกชน ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสภาพจราจร เช่น อุบัติเหตุ, การปิดถนน, งานซ่อมบำรุงถนน, น้ำท่วม หรือการชุมนุมต่างๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมทางหลวง, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, สถานีวิทยุจราจรเพื่อสังคม (TRS 99.5), สถานีวิทยุเพื่อความปลอดภัยและการจราจร (สวพ. 91) และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นต้น โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของ iTIC คอยตรวจสอบ ติดตาม และบันทึกลงในระบบอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลจราจรที่ประมวลผลแล้วของ iTIC จะส่งไปยังผู้ใช้เพื่อแสดงผลเป็นเส้นสี (เขียว เหลือง แดง) หรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เข้าใจง่ายบนแผนที่ ใน Car Navigator ผ่านคลื่นวิทยุ ซึ่งปัจจุบันสามารถรับข้อมูลได้ครอบคลุมทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และกำลังขยายไปยังจังหวัดใหญ่อื่นๆ ด้วยความอนุเคราะห์ให้ใช้คลื่นวิทยุของกรมการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ, กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ และจากบริษัทฟาติมา บรอดแคสติง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรืออีกช่องทางคือผ่านอินเทอร์เน็ต บน Website หรือ Application
ในวันนี้ iTIC ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลจราจรและสำนักงานขึ้น ที่ อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลจราจร โดยศูนย์ฯ นี้จะเป็นเสมือน R&D Center ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย หรือบุคคลทั่วไป สามารถเข้ามาร่วมกันค้นคว้าวิจัย เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาข้อมูลจราจรของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ถึงแม้การรวบรวมข้อมูลจราจรจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นที่น่ายินดี ที่ iTIC ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้การดำเนินงานฯ ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วง และทำให้ iTIC เป็นหนึ่งในศูนย์ข้อมูลจราจรที่ดีที่สุดของประเทศ ผมจึงใคร่ขอขอบคุณผู้สนับสนุนทุกท่าน และขอเชิญชวนให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีรถยนต์ที่ติดตั้งระบบ GPS หรือมีข้อมูลเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจราจร หรือสามารถอนุเคราะห์สถานที่ให้ติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อดูสภาพจราจร หรือประชาชนทั่วไป สามารถร่วมรายงานเหตุการณ์บนท้องถนนผ่าน Application ของ iTIC ได้ และเพียงเท่านี้ ท่านก็สามารถเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างสังคมที่ทันสมัย น่าอยู่ และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด"
ประมวลภาพ
วิทยากร
แอป iTIC ดาวโหลดได้แล้ววันนี้ ออกแบบมาสำหรับทั้ง iOS และ android
- 5277 reads